พริกไทยพันธุ์จันทบุรี

พริกไทยพันธุ์จันทบุรีพริกไทยดีของเมืองจันท์

พริกไทยจันท์  พริกไทยได้ลงหลักปักค้างบนแผ่นดินเมืองจันทบูร  มาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  มีการเก็บส่วยอากรพริกไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเก็บผลผลิตจากป่ามาบริโภคและจำหน่ายเป็นสินค้าที่สำคัญ  นานวันมีการนำมาปลูกโดยใช้ค้างไม้มีชีวิต เช่น ต้นยอป่า ปลูกเลียนแบบธรรมชาติ  จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้กันเกรา ไม้มะหาด  ทำค้าง  พอนานวันไม้เนื้อแข็งหายากและมีราคาแพงจึงแปรเปลี่ยนใช้ค้างเสาคอนกรีต  ดังที่เห็นในปัจจุบัน  ในระยะแรกๆผู้ทำสวนพริกไทยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่อำเภอท่าใหม่
              สมัยกรุงธนบุรี  พริกไทยเป็นสินค้าที่เกิดจากการผลิตโดยตรงที่ปรากฏในบัญชีเครื่องราชบรรณาการที่จัดส่งไปเมืองจีน  นอกเหนือจากสินค้าประเภทของป่า
            สมัยต้นรัตนโกสินทร์  พริกไทยยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากมีชาวจีนที่ชำนาญในการปลูกพริกไทยเข้ามาตั้งรกรากเพิ่มมากขึ้น  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงโปรดแต่งตั้งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฉิม) เจ้ากรมท่าซ้าย ข้าราชการระดับสูงจากส่วนกลางให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจันทบุรี ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตพริกไทย และเรือสำเภาซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

ใบและผลพริกไทยพันธุ์จันทบุรี

พริกไทยในคำขวัญของจังหวัด  วิถีชีวิตของคนจันท์ผูกพันกับพริกไทยมาจนอาจพูดได้ว่าพริกไทยเป็นพืชเอกลักษณ์ของจังหวัดที่ใครๆต่างนึกถึง เมื่อมีการประกวดคำขวัญของจังหวัด ในช่วงปี พ.ศ.2528-2529 พริกไทยจึงถูกบรรจุอยู่ในคำขวัญตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  จนเป็นคำขวัญปัจจุบันที่ว่า น้ำตกลือเลื่อง  เมืองผลไม้  พริกไทยพันธุ์ดี  อัญมณีมากเหลือ  เสื่อจันทบูร  สมบูรณ์ธรรมชาติ  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี” 

ผลผลิตพริกไทยพันธุ์จันทบุรี

ระบำเก็บพริกไทย  ในปีการศึกษา 2527 คณะครูอาจารย์สายนาฏศิลป์ไทย  วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี  มีความเห็นว่าพริกไทยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรีมาช้านาน  จึงร่วมกับประดิษฐ์ชุดการแสดง ระบำเก็บพริกไทย”  ที่สื่อให้เห็นถึงกรรมวิธีและขั้นตอนการผลิตพริกไทย โดยใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลงประกอบการแสดง  


ระบำเก็บพริกไทย (ภาพจากวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี)


พริกไทยพันธุ์จันทบุรี  เป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ตามป่าธรรมชาติในจังหวัดจันทบุรี  เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ปลูกกันมาตั้งแต่โบราณ  เดิมชาวบ้านเรียก พันธุ์ปรางถี่เป็นพันธุ์ที่นิยมของผู้บริโภค ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้  คือ เมล็ดใหญ่ รสเผ็ดจัด กลิ่นหอมกว่าพันธุ์อื่นๆ  ลักษณะประจำพันธุ์ หน้าใบค่อนข้างเรียบไม่เป็นสัน ร่องขอบใบโค้งเว้า ใบแก่ด้านหน้าสีเขียวคล้ำ รูปใบยาว ปลายใบแหลม ใต้ใบมีจุดประเล็กๆ เส้นกลางใบจะไม่ค่อยแบ่งครึ่งแผ่นใบ  ลักษณะขอบใบจะแตกต่างเห็นได้ชัดกับ พันธุ์คุชชิ่ง (พันธุ์ซาราวัค หรือพันธุ์มาเลเซีย) และพันธุ์ซีลอน  ผลค่อนข้างกลม  ผลใหญ่ น้ำหนักดี เหมาะแก่การทำเป็นพริกไทยขาว  ช่อดอกค่อนข้างสั้น  ติดผลไม่ค่อยแน่น  ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลสุกแก่สีแดงส้ม ปัจจุบันพันธุ์นี้เริ่มจะสูญหายไปจากพื้นที่ จังหวัดจันทบุรีโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี  ได้ทำการส่งเสริมการปลูกเชิงอนุรักษ์ และจะพัฒนาให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) พริกไทย GI ของจังหวัดจันทบุรีต่อไปในอนาคต



เรียบเรียงโดย
นายเฉลิมชล  ช่างถม  
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ
สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี
24 กรกฎาคม 2561

ความคิดเห็น